info@nongsangwit.ac.th
Tel. 044-810241

ชื่อเรื่อง          การประเมินโครงการพัฒนาศักยภาพนักเรียนด้านกีฬาเซปักตะกร้อ  สู่ความเป็นเลิศ

                        โรงเรียนหนองสังข์วิทยายน  สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ

ผู้ประเมิน      นางกานต์สินี  วิเศษสมบัติ

ตำแหน่ง        รองผู้อำนวยการสถานศึกษา  วิทยฐานะ รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ

สถานศึกษา  โรงเรียนหนองสังข์วิทยายน  อำเภอแก้งคร้อ  จังหวัดชัยภูมิ

ปีที่ประเมิน   2561

บทคัดย่อ

                   การประเมินครั้งนี้เป็นการประเมินโครงการพัฒนาศักยภาพนักเรียนด้านกีฬาเซปักตะกร้อ สู่ความเป็นเลิศ โรงเรียนหนองสังข์วิทยายน โดยใช้กรอบการประเมินของ CIPP  MODEL มีวัตถุประสงค์ของการประเมิน คือ 1) เพื่อประเมินคุณค่าของโครงการโครงการพัฒนาศักยภาพนักเรียนด้านกีฬาเซปักตะกร้อ สู่ความเป็นเลิศ โรงเรียนหนองสังข์วิทยายน  2) เพื่อประเมินคุณค่าด้านบริบท 3) เพื่อประเมินคุณค่าด้านปัจจัย กระบวนการ และผลผลิตของโครงการ และ 4) เพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินโครงการ แหล่งข้อมูลในการประเมินโครงการ ได้แก่ บุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในปีการศึกษา 2560  คือ  ผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการสถานศึกษา  และครูโรงเรียนหนองสังข์วิทยายน จำนวน 24 คน ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนหนองสังข์วิทยายน จำนวน 30 คน นักเรียนกีฬาตะกร้อ โรงเรียนหนองสังข์วิทยายน จำนวน 30 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนหนองสังข์วิทยายน ปีการศึกษา 2560  จำนวน  13  คน และเอกสาร หลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการของโครงการทั้ง 5 กิจกรรม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ และข้อมูลเชิงปริมาณที่ด้วยสถิติ  ค่าเฉลี่ย  ค่าสวนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  และร้อยละ

สรุปผลการประเมินโครงการ

                   ผลการประเมินพบว่า (1) เป็นโครงการที่มีประสิทธิผล  (2)  เป็นโครงการที่มีคุณค่าด้านความเหมาะสม  สามารถนำไปปฏิบัติ และเผยแพร่ให้สถานศึกษาอื่นต่อไปได้  ทั้งนี้เพราะผลการประเมินบริบทของโครงการ  ผลการประเมินโครงการตามวัตถุประสงค์เฉพาะ  และผลจากการศึกษาผลกระทบจากโครงการ  เป็นตามข้อสรุปดังนี้

  1. ผลการประเมินบริบทของโครงการ ได้ข้อสรุป ดังนี้

                         1.1 โครงการบรรลุวัตถุประสงค์ทั่วไป ว่าด้วยการส่งเสริมความสามารถพิเศษด้านกีฬาเซปักตะกร้อคือ นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านกีฬาเซปักตะกร้อจำนวน 30 คนได้รับการส่งเสริมตามความสามารถตามความถนัดและความสนใจ ทั้งหมด จำนวน 30 คน คิดเป็นร้อยละ 100  ของนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านกีฬาเซปักตะกร้อ การส่งเสริมความสามารถพิเศษด้านกีฬาเซปักตะกร้อจัดขึ้นในลักษณะกิจกรรม 5 กิจกรรม ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุเฉพาะ ดังนี้ 

                               1.1.1 กิจกรรมให้ความรู้แก่ครูผู้ฝึกสอน ให้ครูผู้ฝึกสอนเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้มาใช้ในการฝึกซ้อม และนำนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันมีผลงานปรากฏเชิงประจักษ์ จนได้รับรางวัลผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยมระดับประเทศ 

                                1.1.2 กิจกรรมคัดเลือกนักกีฬาเซปักตะกร้อเน้นคัดเลือกนักเรียนตามความถนัด ความสามารถ และความสนใจโดยเฉพาะ ทำให้ได้นักกีฬาที่ต้องได้รับการส่งเสริมตามสภาพจริง จำนวน 30 คน เพื่อดำเนินการกิจกรรมต่อไป

                                1.1.3  กิจกรรมเข้าค่ายฝึกซ้อมทักษะ จัดกิจกรรมการฝึกซ้อมทักษะกีฬาเซปักตะกร้อสำหรับนักกีฬา 30  คน ได้แก่ การฝึกทักษะประจำวันสำหรับวันที่มาเรียนปกติ  และการฝึกทักษะในวันหยุดเรียน (เสาร์  อาทิตย์  และวันนักขัตฤกษ์)   และการเข้าค่ายเตรียมความพร้อมก่อนการแข่งขัน (1 เดือนก่อนการแข่งขัน) กิจกรรมจัดขึ้นในสถานศึกษาและใช้บุคลากรภายในโรงเรียน   เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมการแข่งขันตามรายการต่างๆ

                                1.1.4 กิจกรรมเข้าร่วมแข่งขันรายการต่างๆ ครูผู้ฝึกสอน และครูผู้ช่วย ผู้ฝึกสอนจำนวน 3 คน วางแผนการเข้าร่วมการแข่งขันตามรายการต่างๆ จากแผนการปฏิบัติการตามโครงการ และนำนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันทั้งภายในและภายนอกจังหวัด

                                1.1.5 กิจกรรมประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ผลงาน และประเมินผลงาน จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์กีฬาเซปักตะกร้อของโรงเรียนหนองสังข์วิทยายน โดยมีการส่งสื่อประชาสัมพันธ์ให้แก่สถานศึกษา หน่วยงานราชการ  องค์กรเอกชน  ชุมชน โดยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับทีมเซปักตะกร้อโรงเรียนหนองสังข์วิทยายน ที่สามารถสร้างชื่อเสียงในระดับประเทศ 

                         1.2 โครงการบรรลุตามเป้าหมาย คือ

                                1.2.1 ส่งนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านเซปักตะกร้อ เข้าร่วมการแข่งขันรายการต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกจังหวัด จำนวน 9 รายการ

                                1.2.2 นักเรียนมีสุขภาพแข็งแรง มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ และมีน้ำใจนักกีฬา

                                1.2.3 นักเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขันตามรายการต่างๆ มีประสบการณ์ตรง และพัฒนาทักษะทางกีฬาได้สูงขึ้น

  1. ผลการประเมินโครงการตามวัตถุประสงค์ ได้ข้อสรุปจากการประเมินปัจจัยการประเมินกระบวนการ และการประเมินผลผลิตของโครงการ แยกตามรายการกิจกรรมแต่ละแผนปฏิบัติการทั้ง 5 กิจกรรม ดังนี้

                                2.1   กิจกรรมการให้ความรู้แก่ครูผู้ฝึกสอน วัตถุประสงค์ชัดเจนมีแนวโน้มสู่ความสำเร็จได้ ดำเนินการตามแผนที่กำหนด ใช้งบประมาณตามความจำเป็นอย่างคุ้มค่า มีการกำกับติดตามการปฏิบัติงาน ผลผลิต คือ สามารถพัฒนาครูผู้ฝึกสอนให้มีความรู้เกี่ยวกับกีฬาเซปักตะกร้อตรงตามวัตถุประสงค์ จึงเป็นกิจกรรมที่มีประสิทธิผล เหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะของโครงการและสนองความต้องการจำเป็นในเบื้องต้นของโครงการ

                                2.2 กิจกรรมการคัดเลือกนักเรียนกีฬาเซปักตะกร้อกิจกรรมมีความเหมาะสม เพราะงบประมาณใช้คุ้มค่า เพียงพอ บุคลากรที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นกับการดำเนินกิจกรรม  ถึงแม้เป้าหมายเชิงคุณภาพจะมีจำนวนนักเรียนเพียงบางส่วนจากนักเรียนทั้งหมด  แต่ขั้นตอนการปฏิบัติสามารถคัดเลือกได้นักเรียนที่มีความถนัดและสนใจกีฬาเซปักตะกร้อผลผลิตที่ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ คือได้นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านกีฬาเซปักตะกร้อ เพื่อได้รับการส่งเสริมตามแผนปฏิบัติการในกิจกรรมต่อไป

                                2.3 กิจกรรมการเข้าค่ายฝึกซ้อมทักษะ การตัดสินคุณค่า มีการจัดกิจกรรมจริงและใช้งบประมาณ 50,000 บาท สถานที่ดำเนินการที่โรงเรียน และมีครูผู้ฝึกสอนเป็นวิทยากร และผู้ควบคุมการฝึกซ้อม ให้ความรู้และทักษะในการแข่งขันกีฬาเซปักตะกร้อสำหรับนักเรียน  เป็นการดำเนินการลักษณะการฝึกซ้อมปฏิบัติจริงตามรูปแบบการแข่งขันกีฬา ผลที่เกิดกับนักเรียนคือ  นักเรียนที่เป็นนักกีฬา 30 คน ได้รับการส่งเสริม ให้ความรู้ ฝึกทักษะต่างๆ ส่งผลให้นักเรียนมีทักษะ  มีความอดทน มีระเบียบวินัย มีความสามัคคี มีน้ำใจนักกีฬา มีความพร้อมเข้าร่วมการแข่งขัน  บรรลุตามวัตถุประสงค์ จัดว่ามีประสิทธิผล มีคุณค่าด้านความเหมาะสม

                                2.4 กิจกรรมการเข้าร่วมแข่งขันตามรายการต่างๆ การตัดสินคุณค่า มีการจัดกิจกรรมจริง และใช้งบประมาณ 50,000 บาท สถานที่ดำเนินการที่โรงเรียน และมีครูผู้ฝึกสอนเป็นวิทยากรและผู้ควบคุมการฝึกซ้อม ให้ความรู้และทักษะในการแข่งขันกีฬาเซปักตะกร้อสำหรับนักเรียน เป็นการดำเนินการลักษณะการฝึกซ้อมปฏิบัติจริงตามรูปแบบการแข่งขันกีฬา  ผลที่เกิดกับนักเรียนคือ นักเรียนที่เป็นนักกีฬา 30 คน ได้รับการส่งเสริม ให้ความรู้  ฝึกทักษะต่างๆ ส่งผลให้นักเรียนมีทักษะ มีความอดทน มีระเบียบวินัย มีความสามัคคี มีน้ำใจนักกีฬา มีความพร้อมเข้าร่วมการแข่งขัน บรรลุตามวัตถุประสงค์ จัดว่ามีประสิทธิผล มีคุณค่าด้านความเหมาะสม

                                2.5 กิจกรรมประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ผลงานและการประเมินผลงาน การตัดสินคุณค่า มีการจัดกิจกรรมประกาศเกียรติคุณแก่นักกีฬาเซปักตะกร้อผู้ฝึกสอนนักกีฬาเซปักตะกร้อสถาบัน ดีเด่น ประจำปีการศึกษา 2560 ผู้ฝึกสอนนักกีฬาเซปักตะกร้อนักเรียนนักศึกษาดีเด่นประจำปีการศึกษา 2560 ภายใต้การใช้ทรัพยากรที่ประหยัดคุ้มค่า มีคุณค่าด้านความเหมาะสม

  1. การศึกษาผลกระทบของโครงการ

                                ผลการศึกษาผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรม  การส่งเสริมนักเรียนแต่ละกิจกรรมของโครงการส่งเสริมความสามารถพิเศษด้านกีฬาเซปักตะกร้อโรงเรียนหนองสังข์วิทยายน ซึ่งสรุปผลที่เกิดขึ้น ดังนี้

                                การสังเคราะห์ข้อมูลที่เป็นผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมแต่ละกิจกรรมของโครงการส่งเสริมความสามารถพิเศษด้านกีฬาเซปักตะกร้อโรงเรียนหนองสังข์วิทยายน โดยมุ่งศึกษาผลกระทบที่มีต่อโรงเรียน นักเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหาร

                                ผลการจัดกิจกรรมการส่งเสริมความสามารถพิเศษด้านกีฬาเซปักตะกร้อโรงเรียน

หนองสังข์วิทยายน ส่งผลต่อนักเรียนโรงเรียนหนองสังข์วิทยายน จำนวน 30 คน ได้แก่ นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อกีฬาเซปักตะกร้อ รู้จักการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์  มีน้ำใจเป็นนักกีฬา  นักเรียนเข้าสมัครเป็นนักกีฬาเซปักตะกร้อเพิ่มมากขึ้น  นักเรียนร่วมบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อเป็นกำลังใจให้กับนักกีฬา

                                การสังเคราะห์การตัดสินคุณค่าของโครงการและเปรียบเทียบผลผลิต ก่อนและหลังการดำเนินกิจกรรมตามโครงการส่งเสริมความสามารถพิเศษด้านกีฬาเซปักตะกร้อโรงเรียนหนองสังข์วิทยายน ส่งผลต่อโรงเรียนคือ โรงเรียนได้รับคำยกย่องชมเชยเกี่ยวกับการได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันต่าง ๆ เช่น ผลการแข่งขันกีฬาเซปักตะกร้อ ผลการแข่งขันกีฬานักเรียนนักศึกษาชิงแชมป์แห่งประเทศไทย  ผลการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ผลการแข่งขันกีฬา          ชิงแชมป์สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษา มีชื่อเสียงด้านกีฬาเซปักตะกร้อ ได้รับการยอมรับผลงานด้านกีฬาเซปักตะกร้อส่งผลต่อชุมชน  ผู้ปกครอง ครู  ผู้บริหาร ได้แก่ ชุมชนได้รับข่าวสารของโรงเรียน สัมพันธภาพระหว่างโรงเรียนกับชุมชนเป็นไปในทางบวก ผู้ปกครองให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความสามารถพิเศษด้านกีฬาเซปักตะกร้อโรงเรียนหนองสังข์วิทยายน  ผู้ปกครองและชุมชนศรัทธาและไว้วางใจโรงเรียน  ครูผู้ฝึกสอนได้รับความศรัทธาและความเชื่อมั่นจากสถาบันอื่น และมีศักยภาพในการปฏิบัติงานมากขึ้น  ผู้บริหารส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรม